วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ประวัตของพระนเรศวรมหาราช





พระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช


สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จพระราชสมภพ ณ เมืองพิษณุโลก เมื่อปีเถาะ พุทธศักราช 2098 พระองค์เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชา และพระวิสุทธิกษัตรี ราชธิดาในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ และสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ดังนั้น พระองค์จึงมีพระชาติ ทั้งราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัยทางพระราชบิดา และราชวงศ์อยุธยาทางพระราชมารดา พระองค์ทรงมีพระพี่นาง พระนามว่า พระสุวรรณเทวีหรือพระสุพรรณกัลยา และพระน้องยาเธอ พระนามว่า สมเด็จพระเอกาทศรถ
เมื่อพระองค์มีพระชันษาได้ 9 ปี พระเจ้าหงสาวดีได้ขอไปเป็นพระราชบุตรบุญธรรม พระองค์ได้ประทับอยู่ที่หงสาวดีถึง 6 ปี เมื่อพระชันษาได้ 15 ปี จึงได้เสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา เพื่อช่วยราชการพระบิดา โดยได้เสด็จขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก
ขณะทรงพระเยาว์และในระหว่างที่พระองค์ประทับอยู่ที่กรุงหงสาวดี ก็ได้ทรงศึกษาวิชาศิลปศาสตร์ และวิชาพิชัยสงคราม ทรงนิยมในวิชาการรบทัพจับศึก พระองค์ทรงมีโอกาสศึกษา ทั้งภายในราชสำนักไทย และราชสำนักพม่า มอญ และได้ทราบยุทธวิธีของชาติต่าง ๆ ที่มารวมกันอยู่ในกรุงหงสาวดีเป็นอย่างดี ทรงนำหลักวิชามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับเหตุการณ์ และสภาพแวดล้อมได้เป็นเลิศ ดังเห็นได้จากการสงครามทุกครั้งของพระองค์ ยุทธวิธีที่ทรงใช้ เช่น การใช้คนจำนวนน้อยเอาชนะคนจำนวนมาก และยุทธวิธีเดินเส้นใน พระองค์ทรงนำมาใช้ก่อนจอมทัพที่เลื่องชื่อในยุโรป นอกจากนั้น หลักการสงครามที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน เช่น การดำรงความมุ่งหมาย หลักการรุก การออมกำลัง และการรวมกำลัง การดำเนินกลยุทธ เอกภาพในการบังคับบัญชา การระวังป้องกัน การจู่โจม หลักความง่าย ฯลฯ พระองค์ก็ทรงนำมาใช้อย่างเชี่ยวชาญ และประสบผลสำเร็จอย่างงดงามมาโดยตลอด


การรบที่เมืองคัง


เมื่อปี พ.ศ. 2124 พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสวรรคต ราชโอรสองค์ใหญ่พระนามมังไชยสิงห์ ซึ่งเป็นรัชทายาท และดำรงตำแหน่งมหาอุปราช ได้ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้านันทบุเรง พระเจ้านันทบุเรงได้ตั้งมังกะยอชะวา พระราชโอรสขึ้นเป็นพระมหาอุปราชา เมื่อกษัตริย์องค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ ก็จะต้องมีฎีกาบอกกล่าวไปยังบรรดาประเทศราชทั้งหลาย ให้มาเฝ้าตามพระราชประเพณี ในครั้งนั้นก็มีพระเจ้าตองอู ผู้เป็นพระอนุชาพระเจ้าบุเรงนอง พระเจ้าแปรเป็นราชบุตรพระเจ้าบุเรงนอง แต่คนละแม่กับพระเจ้านันทบุเรง พระเจ้าอังวะผู้เป็นราชบุตรเขยพระเจ้าบุเรงนอง พระเจ้าเชียงใหม่ พระเจ้ามินปะลอง ผู้ครองเมืองยะไข่ พระเจ้าหน่อเมือง ผู้ครองเมืองลานช้าง และสมเด็จพระมหาธรรมราชา ผู้ครองกรุงศรีอยุธยา ซึ่งทางกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ส่งพระโอรสพระองค์ใหญ่คือ สมเด็จพระนเรศวร เสด็จไปแทนพระองค์
ในเหตุการณ์ครั้งนี้ มีเจ้าเมืองคังไม่ได้มาเข้าเฝ้าตามประเพณี พระเจ้านันทบุเรงเห็นว่าเจ้าเมืองคังแข็งเมือง จำต้องยกทัพไปปราบปราม เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป ในโอกาสที่เจ้าประเทศราชมาชุมนุมกันอยู่นี้ จึงให้โอรสของพระองค์ และโอรสเจ้าประเทศราชที่มีฝีมือ ยกกำลังไปปราบปรามเมืองคังแทนพระองค์ ดังนั้นจึงได้จัดให้พระมหาอุปราชา (มังกะยอชะวา หรือ มังสามเกลียด) พระสังกทัต (นัดจินน่อง) ราชบุตรพระเจ้าตองอู และสมเด็จพระนเรศวร ยกทัพไปตีเมืองคัง เป็นทำนองประชันฝีมือกัน
เมืองคังเป็นเป็นที่ตั้งอยู่บนภูเขา เป็นเมืองเล็กพื้นที่น้อย การที่กองทัพทั้ง 3 จะเข้าตีพร้อมกันเป็นการลำบาก เพราะไม่มีพื้นที่ให้ดำเนินกลยุทธได้เพียงพอ จึงตกลงกันให้ผลัดกันเข้าตีวันละกองทัพ พระมหาอุปราชาได้รับเกียรติให้เข้าตีก่อน เมื่อถึงวันกำหนด พระมหาอุปราชาก็ยกกำลังเข้าตีเมืองคังในเวลากลางคืน ชาวเมืองคังได้ต่อสู้ป้องกันเมืองเป็นสามารถ รบกันจนรุ่งสว่างก็ไม่สามารถตีหักเอาเมืองได้ จึงต้องถอนกำลังกลับลงมา วันต่อมา พระสังกทัตได้ยกกำลังเข้าตีเมืองคัง แต่ก็ไม่สำเร็จอีกเช่นกัน
เมื่อถึงวาระของสมเด็จพระนเรศวร พระองค์ได้มีการเตรียมการเป็นอย่างดี โดยที่ในระหว่างสองวันแรก ที่กองทัพทั้งสองผลัดกันเข้ามาโจมตรีนั้น พระองค์ได้ใช้เวลาดังกล่าว ออกลาดตะเวณตรวจดูภูมิประเทศ และเส้นทางบริเวณเมืองคังโดยตลอด ก็พบว่า มีทางที่จะขึ้นไปยังเมืองคังทางด้านอื่นได้อีกทางหนึ่ง นอกจากเส้นทางหลักที่กองทัพทั้งสองใช้เข้าตี แต่เส้นทางดังกล่าวนั้นเป็นเส้นทางลับ และคับแคบ เคลื่อนกำลังไม่สะดวก ดังนั้น พระองค์จึงแบ่งกำลังออกเป็นสองส่วน เมื่อถึงเวลาค่ำก็ให้กองทหารกองเล็กซุ่มอยู่ทางด้านหน้า ซึ่งเป็นทางหลักที่พระมหาอุปราชาและพระสังกทัต ใช้เป็นเส้นทางเข้าตีมาก่อนแล้ว และให้กองทหารกองใหญ่ ไปวางกำลังอยู่ที่เส้นทางที่ตรวจพบใหม่ กองทัพไทยทั้งสองกองซุ่มอยู่ตลอดคืน จนถึงเวลาสี่นาฬิกา พระองค์จึงให้กองทหารกองเล็ก ยิงปืนโห่ร้อง แสดงอาการว่าจะเข้าตีเมืองทางด้านนั้น ชาวเมืองคังเข้าใจว่า ข้าศึกจะยกเข้าตีหักเอาเมืองทางด้านนั้น เหมือนเช่นครั้งก่อน และด้วยเป็นเวลามืด มองไม่เห็นข้าศึกว่ามีมากน้อยเพียงใด ก็พากันมารบพุ่งต้านทางในด้านนั้น เมื่อพระองค์ทรงเห็นว่า การต้านทานเมืองคัง ได้ทุ่มเทไปทางด้านนั้นหมดแล้ว ก็สั่งให้กองกำลังส่วนใหญ่ ที่ซุ่มคอยอยู่ที่เส้นทางใหม่ เข้าตีหักเอาเมืองคังได้เมื่อเวลาเช้า จับได้ตัวเจ้าฟ้าเมืองคังมาถวายพระเจ้าหงสาวดี
พระเจ้าหงสาวดีหมายมั่นที่จะให้การเข้าตีเมืองคัง เป็นผลงานของพระมหาอุปราชา แต่ผลงานกลับเป็นของสมเด็จพระนเรศวร ผลสำเร็จในการปฎิบัติการยุทธของสมเด็จพระนเรศวรครั้งนี้ เพราะพระปรีชาสามารถ ที่ทรงใช้หลักการสงคราม มาประยุกต์ใช้ในการปฎิบัติจริงอย่างได้ผล เมื่อพระองค์เสด็จกลับมากรุงศรีอยุธยาแล้ว ก็ได้ทรงปรับปรุงกองทัพ และเตรียมการณ์ต่าง ๆ ไว้พร้อมที่จะรับสถานการณ์ในอนาคตโดยมิได้ประมาท


การประกาศอิสรภาพ


เมื่อปี พ.ศ. 2126 พระเจ้าอังวะเป็นกบฎ เนื่องจากไม่พอใจทางกรุงหงสาวดีอยู่หลายประการ จึงแข็งเมือง พร้อมกับเกลี้ยกล่อมเจ้าไทยใหญ่อีกหลายเมืองให้แข็งเมืองด้วย พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงจึงยกทัพหลวงไปปราบ ในการณ์นี้ได้สั่งให้เจ้าเมืองแปร เจ้าเมืองตองอู และเจ้าเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งทางกรุงศรีอยุธยาด้วย ให้ยกทัพไปช่วย ทางไทย สมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดให้สมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปแทน สมเด็จพระนเรศวรยกทัพออกจากเมืองพิษณุโลก เมื่อวันแรม 6 ค่ำ เดือน 3 ปีมะแม พ.ศ. 2126 พระองค์ยกทัพไทยไปช้า ๆ เพื่อให้การปราบปรามเจ้าอังวะเสร็จสิ้นไปก่อน ทำให้พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงแคลงใจว่า ทางไทยคงจะถูกพระเจ้าอังวะชักชวนให้เข้าด้วย จึงสั่งให้พระมหาอุปราชา คุมทัพรักษากรุงหงสาวดีไว้ ถ้าทัพไทยยกมาถึงก็ให้ต้อนรับ และหาทางกำจัดเสีย และพระองค์ได้สั่งให้พระยามอญสองคน คือ พระยาเกียรติและพระยาราม ซึ่งมีสมัครพรรคพวกอยู่ที่เมืองแครงมาก และทำนองจะเป็นผู้คุ้นเคยกับสมเด็จพระนเรศวรมาแต่ก่อน ลงมาคอยต้อนรับทัพไทยที่เมืองแครง อันเป็นชายแดนติดต่อกับไทย พระมหาอุปราชาได้ตรัสสั่งเป็นความลับว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพขึ้นไป ถ้าพระมหาอุปราชายกเข้าตีด้านหน้าเมื่อใด ให้พระยาเกียรติและพระยาราม คุมกำลังเข้าตีกระหนาบทางด้านหลัง ช่วยกันกำจัดสมเด็จพระนเรศวรเสียให้จงได้ พระยาเกียรติกับพระยาราม เมื่อไปถึงเมืองแครงแล้ว ได้ขยายความลับนี้แก่พระมหาเถรคันฉ่อง ผู้เป็นอาจารย์ของตน ทุกคนไม่มีใครเห็นดีด้วยกับแผนการของพระเจ้ากรุงหงสาวดี เพราะมหาเถรคันฉ่องกับสมเด็จพระนเรศวร เคยรู้จักชอบพอกันมาก่อน
กองทัพไทยยกมาถึงเมืองแครง เมื่อวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ปีวอก พ.ศ. 2127 โดยใช้เวลาเดินทัพเกือบสองเดือน กองทัพไทยตั้งทัพอยู่นอกเมือง เจ้าเมืองแครงพร้อมทั้งพระยาเกียรติกับพระยารามได้มาเฝ้า ฯ สมเด็จพระนเรศวร จากนั้นสมเด็จพระนเรศวรได้เสด็จไปเยี่ยมพระมหาเถรคันฉ่อง ซึ่งคุ้นเคยกันดีมาก่อน พระมหาเถรคันฉ่องมีใจสงสาร จึงกราบทูลถึงเรื่องการคิดร้ายของทางกรุงหงสาวดี แล้วให้พระยาเกียรติกับพระยาราม กราบทูลให้ทราบตามความเป็นจริง เมื่อพระองค์ได้ทราบความโดยตลอดแล้ว ก็ทรงมีพระดำริเห็นว่า การเป็นอริราชศัตรูกับกรุงหงสาวดีนั้น ถึงกาลเวลาที่จะต้องเปิดเผยต่อไปแล้ว จึงได้มีรับสั่งให้เรียกประชุมแม่ทัพนายกอง กรมการเมือง เจ้าเมืองแครงรวมทั้งพระยาเกียรติพระยาราม และทหารมอญมาประชุมพร้อมกัน แล้วนิมนต์พระมหาเถรคันฉ่อง และพระสงฆ์มาเป็นสักขีพยาน ทรงแจ้งเรื่องให้คนทั้งปวงที่มาชุมนุม ณ ที่นั้นทราบว่า พระเจ้าหงสาวดีคิดประทุษร้ายต่อพระองค์ จากนั้นพระองค์ได้ทรงหลั่งน้ำลงสู่แผ่นดินด้วยสุวรรณภิงคาร (พระน้ำเต้าทองคำ) ประกาศแก่เทพยดาฟ้าดินว่า
"ด้วยพระเจ้าหงสาวดี มิได้อยู่ในครองสุจริตมิตรภาพขัตติยราชประเพณี เสียสามัคคีรสธรรม ประพฤติพาลทุจริต คิดจะทำอันตรายแก่เรา ตั้งแต่นี้ไป กรุงศรีอยุธยาขาดไมตรีกับกรุงหงสาวดี มิได้เป็นมิตรร่วมสุวรรณปฐพีเดียวกันดุจดังแต่ก่อนสืบไป"
จากนั้นพระองค์ได้ตรัสถามชาวเมืองแครงว่าจะเข้าข้างฝ่ายใด พวกมอญทั้งปวงต่างเข้ากับฝ่ายไทย สมเด็จพระนเรศวรจึงให้จับเจ้าเมืองกรมการพม่า แล้วเอาเมืองแครงเป็นที่ตั้งประชุมทัพ เมื่อจัดกองทัพเสร็จ ก็ทรงยกทัพจากเมืองแครง ไปยังเมืองหงสาวดี เมื่อวันแรม 3 ค่ำ เดือน 6
ฝ่ายพระมหาอุปราชาที่อยู่รักษาเมืองหงสาวดี เมื่อทราบว่าพระยาเกียรติ พระยารามกลับไปเข้ากับสมเด็จพระนเรศวร จึงได้แต่รักษาพระนครมั่นอยู่ สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกทัพข้ามแม่น้ำสะโตงไปใกล้ถึงเมืองหงสาวดี ได้ทราบความว่า พระเจ้ากรุงหงสาวดีมัชัยชนะได้เมืองอังวะแล้ว กำลังจะยกทัพกลับคืนพระนคร พระองค์เห็นว่าสถานการณ์ครั้งนี้ไม่สมคะเน เห็นว่าจะตีเอาเมืองหงสาวดีในครั้งนี้ยังไม่ได้ จึงให้กองทัพแยกย้ายกันเที่ยวบอกพวกครัวไทย ที่พม่ากวาดต้อนไปแต่ก่อน ให้อพยพกลับบ้านเมือง ได้ผู้คนมาประมาณหมื่นเศษ ให้ยกล่วงหน้าไปก่อน พระองค์ทรงคุมกองทัพยกตามมาข้างหลัง
ฝ่ายพระมหาอุปราชาทราบข่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรกวาดต้อนคนไทยกลับ จึงได้ให้สุรกรรมาเป็นกองหน้า พระมหาอุปราชาเป็นกองหลวง ยกติดตามกองทัพไทยมา กองหน้าของพม่าตามมาทันที่ริมฝั่งแม่น้ำสะโตง ในขณะที่ฝ่ายไทยได้ข้ามแม่น้ำไปแล้ว และคอยป้องกันมิให้ข้าศึกข้ามตามมาได้ ได้มีการต่อสู้กันที่ริมฝั่งแม่น้ำ สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้พระแสงปืนนกสับยาวเก้าคืบ ยิงถูกสุรกรรมา แม่ทัพหน้าพม่าตายบนคอช้าง กองทัพของพม่าเห็นแม่ทัพตาย ก็พากันเลิกทัพกลับไป เมื่อพระมหาอุปราชาแม่ทัพหลวงทรงทราบ จึงให้เลิกทัพกลับไปกรุงหงสาวดี
พระแสงปืนที่ใช้ยิงสุรกรรมาตายบนคอช้างนี้ได้นามปรากฎต่อมาว่า "พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง" นับเป็นพระแสงอัษฎาวุธ อันเป็นเครื่องราชูปโภค ยังปรากฎอยู่จนถึงทุกวันนี้
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับถึงเมืองแครง ทรงดำริว่าพระมหาเถรคันฉ่องกับพระยาเกียรติพระยารามได้มีอุปการะมาก สมควรได้รับการตอบแทนให้สมแก่ความชอบ จึงทรงชักชวนให้มาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา พระมหาเถรคันฉ่องกับพระยามอญ ที้งสองก็มีความยินดี พาพรรคพวกสเด็จเข้ามาด้วยเป็นอันมาก ในการยกกำลังกลับครั้งนี้ สมเด็จพระนเรศวรทรงเกรงว่า ข้าศึกอาจยกทัพตามมาอีก ถ้าเสด็จกลับทางด่านแม่ละเมา มีกองทัพของนันทสูราชสังครำตั้งอยู่ที่เมืองกำแพงเพชร จะเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง พระองค์จึงรีบสั่งให้พระยาเกียรติ พระยาราม นำทัพเดินผ่านหัวเมืองมอญลงมาทางใต้ มาเข้าทางด่านเจดีย์สามองค์
เมื่อกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยาแล้ว สมเด็จพระมหาธรรมราชาก็พระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่พวกมอญที่สวามิภักดิ์ ทรงตั้งพระมาหาเถรคันฉ่องเป็นพระสังฆราชา ที่สมเด็จอริยวงศ์ และให้พระยาเกียรติ พระยารามมีตำแหน่งยศ ได้พระราชทานพานทอง ควบคุมมอญที่เข้ามาด้วย ให้ตั้งบ้านเรือนที่ริมวัดขมิ้น และวัดขุนแสนใกล้วังจันทร์ของสมเด็จพระนเรศวร แล้วทรงมอบการทั้งปวงที่จะตระเตรียมต่อสู้ข้าศึก ให้สมเด็จพระนเรศวรทรงบังคับบัญชาสิทธิขาดแต่นั้นมา


สงครามยุทธหัตถี


เมื่อพระมหาอุปราชาแตกทัพกลับไปในสงครามครั้งก่อน ทำให้พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงทรงพระวิตกยิ่งนัก เพราะว่าพม่าเสียทั้งรี้พลและอำนาจ เป็นเหตุให้เมืองขึ้นต่าง ๆ ของพม่าเกิดความเคลื่อนไหวที่จะแข็งเมืองทั่วไป การที่จะรักษาอำนาจพม่าไว้ได้ ก็ด้วยการเอาชนะไทยให้ได้ พระเจ้าหงสาวดีจึงให้พระมหาอุปราชา ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีก ในปี พ.ศ. 2135
ตามพงศาวดารกล่าวไว้ว่า พระเจ้าหงสาวดีได้ตัดพ้อในที่ประชุมเจ้านายและขุนนาง ถึงการที่ไม่มีใครเจ็บร้อนเรื่องเมืองไทย สมเด็จพระนเรศวรมีรี้พลเพียงหยิบมือเดียว ก็ไม่มีใครกล้าไปรบพุ่ง เมืองหงสาวดีคงสิ้นคนดีเสียแล้ว ขุนนางคนหนึ่งจึงกราบทูลว่า กรุงศรีอยุธยานั้น สำคัญอยู่ที่สมเด็จพระนเรศวรพระองค์เดียว เพราะกำลังหนุ่มรบพุ่งเข้มแข็ง ทั้งบังคับบัญชาผู้คนก็สิทธิ์ขาด มีคนน้อยก็เหมือนมีคนมาก เจ้านายในกรุงหงสาวดีที่ทำสงครามเข้มแข็ง เคยชนะศึกเหมือนอย่างสมเด็จพระนเรศวรก็มีอยู่หลายองค์ ถ้าจัดกองทัพให้เป็นหลายกองทัพ แล้วให้เจ้านายดังกล่าวเป็นแม่ทัพ ยกไปช่วยรบก็เห็นเอาชัยชนะได้ พระเจ้าหงสาวดีก็ได้ตรัสตอบ ตามที่ปรากฎในพระราชพงศาวดารว่า ข้อเสนอนั้นก็ดีอยู่ แต่ตัวของพระองค์เป็นคนอาภัพ ไม่เหมือนพระมหาธรรมราชาซึ่งมีลูก พ่อไม่ต้องพักใช้ให้ไปรบ มีแต่กลับจะต้องห้ามเสียอีก ตัวของพระองค์เองไม่รู้ว่าจะใช้ใคร พระมหาอุปราชาได้ยินดังนั้น ก็เกิดความอัปยศอดสู จึงกราบทูลว่าขอรับอาสามาตีเมืองไทยแก้ตัวใหม่
สงครามคราวนี้ ทางพม่าเกณฑ์กองทัพ 3 เมือง คือ กองทัพเมืองหงสาวดี ให้เจ้าเมืองจาปะโร เป็นกองหน้า พระมหาอุปราชา เป็นกองหลวง กองทัพเมืองแปร ให้พระเจ้าแปรลูกเธอที่ไปตีเมืองคังได้เมื่อครั้งหลัง เป็นนายทัพ กองทัพเมืองตองอู ให้นัดจินหน่อง ลูกพระเจ้าตองอู ผู้ต้านทานกองทัพไทยไว้ได้เมื่อคราวที่พระเจ้าหงสาวดีล่าทัพจากเมืองไทย เป็นนายทัพ รวมกำลังพลทั้งสิ้น 240,000 คน นอกจากนั้น ยังให้พระเจ้าเชียงใหม่ ยกกองทัพเมืองใหม่ใหม่ ลงมาสมทบด้วยอีกหนึ่งกองทัพ
กองทัพพระมหาอุปราชายกออกจากเมืองหงสาวดี เมื่อวันพุธ ขึ้น 7 ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะโรง พ.ศ. 2135 เดินทัพมาทางด่านเจดีย์สามองค์ เมื่อล่วงเข้าถึงตำบลไทรโยค ก็ให้ตั้งค่ายลง แล้วปรึกษาแผนการที่จะเข้าตีเมืองกาญจนบุรี และเมื่อล่วงมาถึงลำตะเพินในตำบลลาดหญ้า ก็ให้พระยาจิตตองคุมพลสร้างสะพานเรือก เพื่อใช้ข้ามลำน้ำสายนี้ เมื่อเข้าเมืองกาญจนบุรีได้ก็พักอยู่หนึ่งคืน แล้วเคลื่อนทัพมายังตำบลตระพังกรุ แขวงเมืองกาญจนบุรี พระมหาอุปราชาก็ทรงให้ตั้งค่ายแบบดาวล้อมเดือน ตรงชัยภูมินาคนาม ทัพพม่ายกมาครั้งนี้ จนล่วงเข้าเขตกาญจนบุรี ไม่มีทัพไทยไปขัดตาทัพเลย จึงยกเข้ามาได้ตามลำดับ จนเข้าเขตเมืองสุพรรณบุรี แขวงบ้านพนมทวนเวลาบ่ายสามโมง เกิดลมเวรัมภาพัดหมุนเป็นเกลียว ทำให้เศวตฉัตรของพระมหาอุปราชาหักสะบั้นลง พระมหาอุปราชาเห็นเป็นลางร้าย มีความหวาดหวั่นพรั่นพระหฤทัยที่จะมาทำสงครามเพิ่มมากขึ้น กองทัพพม่ายกมาถึงตำบลตระพังกรุ แขวงเมืองสุพรรณบุรี ก็ให้หยุดตั้งทัพอยู่ ณ ที่นั้น แล้วให้สมิงจอดราน สมิงเป่อ สมิงซาม่วน คุมกองทัพม้า ออกลาดตระเวณหาข่าวกองทัพพม่าที่จะยกลงมาทางเหนือ และสืบข่าวกองทัพฝ่ายไทย ว่าได้ยกออกมาและวางกำลังต่อสู้ไว้ที่ใดบ้าง
กองทัพพม่าที่ยกมาครั้งนี้ ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า ได้รบกันที่แขวงเมืองสุพรรณบุรี และกล่าวถึงกองทัพพระมหาอุปราชาเพียงทัพเดียว ไม่ปรากฎอีกสองกองทัพ คือกองทัพพระเจ้าแปร และกองทัพนัดจินหน่องแต่อย่างใด เรื่องนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า กองทัพพม่าที่ยกมาครั้งนี้ น่าจะยกมาสองทาง คือ กองทัพพระมหาอุปราชายกมาทางด่านเจดีย์สามองค์ ส่วนอีกสองกองทัพยกมาทางด่านแม่ละเมา และให้พระเจ้าเชียงใหม่คุมเรือเป็นกองลงมาเช่นคราวก่อน กำหนดให้กองทัพที่ยกมาทั้งสองทางนี้ มารวมกันที่กรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อฝ่ายไทย ตีกองทัพพระมหาอุปราชาแตกไปก่อนแล้ว ก็เป็นอันสิ้นสุดสงคราม ทัพพม่าอีกสองกองทัพที่ยกมาทางเหนือ เดินทางมาถึงทีหลัง จึงยังไม่ทันเข้ารบพุ่งเลยต้องถอยกลับไป ข้อสันนิษฐานนี้น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด เพราะแม้แต่จะมีหลักฐานบางแห่งกล่าวว่า ทัพเจ้าเมืองแปรเป็นปีกซ้าย ทัพเจ้าเมืองตองอูเป็นปีกขวา เมื่อพิจารณาภูมิประเทศของเส้นทางเดินทัพมาทางด่านเจดีย์สามองค์ ห้องภูมิประเทศจะไม่อำนวยให้จัดทัพเช่นนั้นได้ จะทำได้เมื่อกองทัพเข้าสู่ที่ราบแล้วเท่านั้น และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ควรจะได้ปรากฎการปฏิบัติการของกองทัพทั้งสอง บันทึกไว้แน่นอน
ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวร ตั้งแต่กองทัพพระมหาอุปราชาแตกกลับไปเมื่อครั้งก่อน พระองค์ก็ทรงประมาณสถานการณ์ว่า ไทยคงจะว่างศึกไปสักปีสองปี เพราะข้าศึกบอบช้ำมาก ต้องใช้เวลาฟื้นฟูเป็นเวลานาน ดังนั้นในปีมะโรง พ.ศ. 2135 ทรงวางแผนที่จะไปตีกรุงกัมพูชา เนื่องจากในระหว่างที่ไทยทำศึกติดพันอยู่กับพม่านั้น เขมรจะฉวยโอกาสเข้ามาซ้ำเติมไทยอยู่หลายครั้ง แม้ต่อมาเมื่อเขมรเห็นว่าไทยเข้มแข็งขึ้น รบชนะพม่าทุกครั้งจะรีบเข้ามาขอเป็นไมตรีกับไทยก็ตาม แต่ครั้นเห็นพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ยกกองทัพใหญ่เข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยา เขมรคาดว่าไทยจะสู้พม่าไม่ได้ ก็หันกลับไปสู่พฤติกรรมเดิม ฉวยโอกาสยกกำลังเข้ามาโจมตีไทยอีก พระองค์จึงคอยหาโอกาส ที่จะยกกำลังไปปราบปรามเขมรให้สำนึกตน ครั้นถึงเดือนอ้าย ปีมะโรง พ.ศ. 2135 พระองค์ได้ทรงให้มีท้องตรา เกณฑ์ทัพเพื่อไปตีเมืองเขมร กำหนดให้ยกทัพไปในเดือนยี่ พอมีท้องตราไปได้ 6 วัน ถึงวันขึ้น 12 ค่ำ เดือนยี่ ก็ได้รับใบบอกจากเมืองกาญจนบุรีว่า พระเจ้าหงสาวดีทรงให้พระมหาอุปราชา ยกกองทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ และได้ข่าวจากหัวเมืองเหนือว่า มีกองทัพข้าศึกยกลงมาอีกทางหนึ่ง
ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ทรงพระราชดำริว่าข้าศึกยกลงมาสองทาง ถ้าปล่อยให้มาสมทบกันได้ ก็จะทำให้ข้าศึกมีกำลังมาก เมื่อกองทัพพระมหาอุปราชายกเข้ามาก่อน จึงจะต้องชิงตีให้แตกเสียก่อน เป็นการรวมกำลังเข้ากระทำการต่อข้าศึกเป็นส่วนๆ ไป เช่นที่เคยเอาชนะกองทัพพระยาพสิม ก่อนที่กองทัพพระเจ้าเชียงใหม่จะยกลงมาถึง ในสงครามครั้งแรก ดังนั้น จากการเตรียมประชุมพลที่ทุ่งบางขวด เพื่อเตรียมยกไปตีกรุงกัมพูชา ก็เปลี่ยนมาเป็นประชุมพลที่ทุ่งป่าโมก แขวงเมืองวิเศษไชชาญ อันเป็นเส้นทางร่วมที่จะยกทัพไปเมืองสุพรรณบุรี และไปเมืองเหนือได้ทั้งสองทาง
ในระหว่างนั้น พระองค์ก็ทรงให้พระอมรินทรฤาไชย ผู้ว่าราชการเมืองราชบุรี คุมพล 500 คน จัดกำลังแบบกองโจร ออกไปปฏิบัติการตีตัดเส้นทางลำเลียง และรื้อสะพานทางเดินทัพของข้าศึกทางด้านหลัง จัดทัพหัวเมือง ตรี จัตวา และหัวเมืองปักษ์ใต้ รวม 23 หัวเมือง รวมกำลังพลได้ 50,000 คน ให้พระยาศรีไสยณรงค์เป็นนายทัพ พระยาราชฤทธานนท์เป็นยกกระบัตร คุมกองทัพหัวเมือง ไปตั้งขัดตาทัพสะกัดข้าศึกอยู่ที่ลำน้ำท่าคอย แขวงเมืองสุพรรณบุรี เมื่อเตรียมทัพหลวงเสร็จ สมเด็จพระนเรศวร กับสมเด็จพระเอกาทศรถ ก็เสด็จโดยกระบวนเรือพระที่นั่งจากพระนคร ไปทำพิธีฟันไม้ข่มนามที่ทุ่งลุมพลี เมื่อวันขึ้น 9 ค่ำ เดือนยี่ แล้วเสด็จไปยังที่ตั้งทัพชัย ที่ตำบลมะม่วงหวาน หยุดปรับกระบวนทัพอยู่สามคืน พอวันขึ้น 12 ค่ำ ก็เสด็จยกกองทัพหลวงมีกำลังพล 100,000 คน ออกจากทุ่งป่าโมกไปเมืองสุพรรณบุรีทางบ้านสามโก้ ข้ามลำน้ำสุพรรณที่ท่าท้าวอู่ทอง ไปถึงค่ายหลวงที่หนองสาหร่ายริมลำน้ำท่าคอย เมื่อวันขึ้น 14 ค่ำ
มีความในพระราชพงศาวดาร แสดงถึงความอัศจรรย์ตอนหนึ่งว่า ขณะเมื่อสมเด็จพระนเรศวร ประทับอยู่ที่ค่ายหลวง ตำบลมะขามหวาน ก่อนวันที่จะเสด็จยกกองทัพไปเมืองสุพรรณบุรี ในตอนกลางคืน พระองค์ทรงพระสุบินว่า มีน้ำท่วมป่า หลากมาแต่ทางทิศตะวันตก พระองค์เสด็จลุยน้ำไปพบจรเข้ใหญ่ตัวหนึ่ง ได้เข้าต่อสู้กัน ทรงประหารจรเข้นั้นสิ้นชีวิตด้วยฝีพระหัตถ์ สายน้ำนั้นก็เหือดแห้งไป ทรงมีรับสั่งให้โหรทำนายพระสุบินนั้น พระยาโหราธิบดีกราบทูลพยากรณ์ว่า เสด็จไปคราวนี้จะได้รบพุ่งกับข้าศึก เป็นมหายุทธสงคราม ถึงได้ทำยุทธหัตถีและจะมีชัยชนะข้าศึก
มีเรื่องของศุภนิมิตครั้งที่สองที่ได้กล่าวไว้ในที่บางแห่งว่า เมื่อใกล้ฤกษ์ยกทัพ สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จไปยังเกยทรงช้างพระที่นั่งตามพิชัยฤกษ์นั้น พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นพระบรมสารีริกธาตุ ขนาดเท่าผลส้มเกลี้ยง ส่องแสงเรืองอร่าม ลอยมาในท้องฟ้าทางทิศใต้ แล้วลอยวนรอบกองทัพไทย เป็นทักษิณาวัตรสามรอบ จากนั้นจึงลอยขึ้นไปทางทิศเหนือ สมเด็จพระนเรศวร และพระอนุชาทรงปิติยินดีตื้นตันพระราชหฤทัยยิ่งนัก ทรงนมัสการและอธิษฐานให้ พระบรมสารีริกธาตุนั้น ปกป้องคุ้มครองกองทัพไทย ให้พ้นอันตรายจากผองภัยทั้งมวล
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จถึงหนองสาหร่าย ก็ทรงให้กองทัพพระศรีไสยณรงค์ กับ พระราชฤทธานนท์ ซึ่งออกไปขัดตาทัพอยู่ก่อนที่ลำน้ำท่าคอย เลื่อนออกไปขัดตาทัพที่ดอนระฆัง ส่วนกองทัพหลวงก็ทรงให้เตรียมค่ายคู และกระบวนทัพที่จะรบข้าศึก ด้วยคาดว่าคงจะได้ปะทะกันในวันสองวันเป็นแน่ เพราะกองทัพของทั้งสองฝ่ายอยู่ใกล้กันมากแล้ว พระองค์ทรงจัดทัพเป็นขบวน เบญจเสนา 5 ทัพ ดังนี้
ทัพที่ 1 เป็นกองหน้า ให้พระยาสีหราชเดโชชัยเป็นนายทัพ พระยาพิชัยรณฤทธิ์ เป็นปีกขวา พระยาวิชิตณรงค์ เป็นปีกซ้าย
ทัพที่ 2 เป็นกองเกียกกาย ให้พระยาเทพอรชุน เป็นนายทัพ พระยาพิชัยสงคราม เป็นปีกขวา พระยารามคำแหง เป็นปีกซ้าย
ทัพที่ 3 เป็นกองหลวง สมเด็จพระนเรศวร ทรงเป็นจอมทัพ พร้อมด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถ เจ้าพระยามหาเสนา เป็นปีกขวา เจ้าพระยาจักรี เป็นปีกซ้าย
ทัพที่ 4 เป็นกองยกกระบัตร ให้พระยาพระคลัง เป็นนายทัพ พระราชสงคราม เป็นปีกขวา พระรามรณภพ เป็นปีกซ้าย
ทัพที่ 5 เป็นกองหลัง ให้พระยาท้ายน้ำ เป็นนายทัพ หลวงหฤทัย เป็นปีกขวา หลวงอภัยสุรินทร์เป็นปีกซ้าย
ค่ายที่หนองสาหร่ายนี้ ทรงให้ตั้งเป็นกระบวนปทุมพยุหะเป็นรูปดอกบัว และเลือกชัยภูมิครุฑนาม เพื่อข่มกองทัพข้าศึกซึ่งตั้งในชัยภูมินาคนาม ตามหลักตำราพิชัยสงคราม
ครั้นถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือนยี่ พระยาศรีไสยณรงค์บอกมากราบทูลว่า ข้าศึกยกกองทัพใหญ่พ้น บ้านจรเข้สามพันมาแล้ว สมเด็จพระนเรศวรจึงมีรับสั่งให้กองทัพทั้งปวง เตรียมตัวรบข้าศึกในวันรุ่งขึ้น แล้วสั่งให้พระยาศรีไสยณรงค์ ยกออกไปหยั่งกำลังข้าศึก แล้วให้ถอยกลับมา
ในวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงเครื่องพิชัยยุทธ ให้ผูกช้างพระที่นั่งชื่อ พลายภูเขาทอง ขึ้นระวางเป็นเจ้าพระยาไชยานุภาพ เป็นพระคชาธารของพระองค์ มีเจ้ารามราฆพเป็นกลางช้าง นายมหานุภาพเป็นควาญ อีกช้างหนึ่งชื่อพลายบุญเรือง ขึ้นระวางเป็นเจ้าพระยาปราบไตรจักร เป็นพระคชาธารสมเด็จพระเอกาทศรถ มีหมื่นภักดีศวรเป็นกลางช้าง ขุนศรีคชคงเป็นควาญ พร้อมด้วย นายแวง จตุลังคบาท พวกทหารคู่พระทัยสำหรับรักษาพระองค์
ขณะนั้นเสียงปืนจากการปะทะกัน ระหว่างทัพหน้าของไทย กับทัพหน้าของพม่าดังขึ้น พระองค์จึงดำรัสให้จมื่นทิพเสนา ปลัดกรมตำรวจ เอาม้าเร็วไปสืบข่าว ได้ความว่า พระยาศรีไสยณรงค์ได้ยกกำลังออกไป และได้ปะทะกับข้าศึกที่ ตำบลดอนเผาข้าวเมื่อเวลาเช้า ฝ่ายข้าศึกมีกำลังมากต้านทานไม่ไหว จึงแตกถอยร่นมา สมเด็จพระนเรศวรจึงปรึกษาแม่ทัพนายกองว่า สถานการณ์เช่นนี้ควรจะทำอย่างไร บรรดาแม่ทัพนายกองทั้งหลายกราบทูลว่า ควรให้มีกองทัพหนุน ออกไปช่วยต้านทานข้าศึกไว้ให้อยู่เสียก่อน แล้วจึงให้ทัพหลวงออกมาตีภายหลัง สมเด็จพระนเรศวรไม่ทรงเห็นชอบด้วย มีพระดำรัสว่า กองทัพแตกลงมาเช่นนี้แล้ว จะให้กองทัพไปหนุน ไหนจะรับไว้อยู่ มาปะทะกันเข้าก็จะพากันแตกลงมาด้วยกัน ควรที่จะล่าถอยลงมาโดยเร็ว เพื่อปล่อยให้ข้าศึกยกติดตามมาอย่างไม่เป็นกระบวน พอได้ทีให้ยกกำลังส่วนใหญ่เข้าโจมตีข้าศึก ก็คงจะได้ชัยชนะโดยง่าย สมเด็จพระนเรศวรจึงมีรับสั่งให้จมื่นทิพเสนา กับ จมื่นราชามาตย์ ขึ้นม้าเร็ว รีบไปประกาศแก่พวกกองทัพหน้าของไทยว่า อย่าได้รั้งรอข้าศึก ให้รีบล่าถอยหนีไปโดยเร็ว กองทัพหน้าของพระยาศรีไสยณรงค์ก็พากันถอยหนีไม่เป็นกระบวน ข้าศึกเห็นดังนั้น ก็พากันรุกไล่ลงมาด้วยเห็นได้ที จนไม่เป็นกระบวนเช่นกัน
สมเด็จพระนเรศวรสงบทัพหลวงรออยู่จน 11 นาฬิกา เห็นข้าศึกตามลงมาไม่เป็นกระบวน ก็สมคะเน ทรงดำรัสสั่งให้บอกสัญญาณกองทัพทั้งปวง ให้ยกออกตีข้าศึก พระองค์และพระเอกาทศรถ ยกกองทัพหลวงเข้าโอบกองทัพหน้าข้าศึก ทัพท้าวพระยาอื่น ๆ ได้ทราบกระแสรับสั่งได้เร็วบ้างช้าบ้าง เนื่องจากเหตุการณ์กระทันหัน มีเวลาน้อยมาก ทำให้ยกไปไม่ทันเสด็จเป็นส่วนมาก คงมีแต่กองทัพพระยาสีหราชเดโชชัย กับกองทัพเจ้าพระยามหาเสนาซึ่งเป็นปีกขวา ตามกองทัพหลวงเข้าจู่โจมข้าศึก กองทัพหน้าของพม่าไม่คาดว่าว่าจะมีกองทัพไทยไปยอทัพ ก็เสียทีแตกหนีอลหม่าน
เหตุการณ์ตอนนี้มีเรื่องบันทึกไว้ในบางแห่งว่า ขณะที่สมเด็จพระนเรศวรประทับรอฟังข่าวทัพหน้าอยู่นั้น ได้บังเกิดเมฆเยือกเย็น ตั้งเค้ามืดอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ แล้วกลับกลายเป็นเปิดโล่ง เห็นดวงตะวันสาดแสงสว่างกระจ่างตา สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงเคลื่อนทัพตามเกล็ดนาค ซึ่งตามตำราพิชัยสงครามได้กำหนดไว้ว่า ในวันใดหัวนาคและหางนาคอยู่ทางทิศใด ต้องไปตั้งทัพทางหัวนาค แล้วเคลื่อนทัพไปทางหางนาค เป็นการเคลื่อนที่ตามเกล็ดนาค ไม่ให้เคลื่อนที่ย้อนเกล็ดนาค เมื่อช้างพระที่นั่งของทั้งสองพระองค์ได้ยินเสียงฆ้องกลองรบ และเสียงปืนที่ทั้งสองฝ่ายยิงต่อสู้กัน ก็เกิดความคึกคะนองด้วยเหตุที่กำลังตกมัน แล้ววิ่งถลันเข้าไปในหมู่ข้าศึก ควาญไม่สามารถคัดท้ายอยู่ บรรดาแม่ทัพนายกองและไพร่พลทั้งปวงตามเสด็จไม่ทัน ผู้ที่สามารถตามเสด็จไปด้วยได้ คงมีแต่ผู้ที่มีหน้าที่อยู่ประจำช้างพระที่นั่ง คือกลางช้าง ควาญช้าง และจตุลังคบาท ที่มีหน้าที่รักษาเท้าช้าง สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถ ทอดพระเนตรเห็นข้าศึกมีกำลังมากมาย ไม่เป็นทัพเป็นกอง จึงทรงไสช้างพระที่นั่งเข้าชนช้างข้าศึก เหล่าข้าศึกพากันระดมยิงอาวุธมาดังห่าฝน แต่ไม่ถูกช้างทรง ทันใดนั้นก็บังเกิดตะวันตลบมืด ท้องฟ้ามืดมิดราวกับไม่มีแสงตะวัน จนมองไม่เห็นกัน สมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นดังนั้น จึงได้ประกาศแก่เทวดา พระพรหมทุกชั้นฟ้า ถึงปณิธานของพระองค์ที่ได้มาสืบวงศ์กษัตริย์ และมุ่งหวังที่จะทำนุบำรุงพระบวรพุทธศาสนา ทันใดนั้นก็บังเกิดพายุใหญ่พัดปั่นป่วนในท้องฟ้า สนามรบก็สว่างแจ้ง พระองค์แลไปเห็นนายทัพข้าศึก นั่งอยู่บนหลังช้างเผือกตัวหนึ่ง มีฉัตรกั้นอยู่ใต้ร่มต้นข่อย มีพล 4 เหล่า เรียงรายอยู่มากมาย ก็ทรงตระหนักแน่พระทัยว่าเป็นพระมหาอุปราชา
เหตุการณ์ในตอนนี้มีอยู่หลายสำนวน ตามพระราชพงศาวดารกล่าวไว้ว่า ให้เอาพลายภูเขาทอง ขึ้นระวางสะพัด ชื่อเจ้าพระยาไชยานุภาพ สูง 6 ศอกคืบ 2 นิ้ว ติดน้ำมันหน้าหลัง เป็นคชาธารสมเด็จพระนเรศวร และให้เอาพลายบุญเรืองขึ้นระวางสะพัด ชื่อเจ้าพระยาปราบไตรจักร สูง 6 ศอก 2 คืบ ติดน้ำมันหน้าหลัง เป็นพระคชาธารสมเด็จพระอนุชาธิราชพระเอกาทศรถ ส่วนพระคชาธารของพระมหาอุปราชานั้น ชื่อพลายพัทธกอ สูง 6 ศอกคืบ 6 นิ้ว ติดน้ำมันหน้าหลังเช่นเดียวกัน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ยาตราพระคชาธารเป็นบาทย่างสะเทินมา บ่ายหน้าต่อข้าศึก เจ้าพระยาไชยานุภาพ เจ้าพระยาปราบไตรจักร ได้ยินเสียงพลและเสียงฆ้องกลองอึงคะนึง ก็เรียกมันครั่นครื้น กางหูชูหางกิริยาป่วนเป็นบาทย่างใหญ่ เร็วไปด้วยกำลังน้ำมัน ช้างท้าวพระยามุขมนตรี และโยธาหาญซ้ายขวาหลังนั้นตกลง ไปมิทันเสด็จ พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ใกล้ทัพหน้าข้าศึก ทอดพระเนตรเห็นพลพม่ารามัญนั้นยกมาเต็มท้องทุ่ง เดินดุจคลื่นในมหาสมุทร พลข้าศึกไล่พลชาวพระนครครั้งนั้น สลับซับซ้อนกันมิได้เป็นกระบวน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ก็ขับพระคชาธารเข้าโจมแทงช้างม้ารี้พลปรปักษ์ ไล่สายเสยถีบฉัดตะลุมบอน พลพม่ารามัญตายเกลื่อนกลาด ช้างข้าศึกได้กลิ่นน้ำมันพระคชาธาร ก็หกหันตลบปะกันไปเป็นอลหม่าน พลพม่ารามัญก็โทรมยิงธนู หน้าไม้ ปืนไฟ ระดมเอาพระคชาธารสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ และธุมาการก็ตรลบมืดเป็นหมอกมัวไป มิได้เห็นกันประจักษ์
สำนวนของวันวลิต ชาวฮอลันดา ซึ่งเข้ามาที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2176 ได้บรรยายเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า พระเจ้ากรุงหงสาวดียกทัพอันมีกำลังใหญ่หลวง มายังกรุงศรีอยุธยา พระนเรศวรยกทัพมาถึงวัดร้างแห่งหนึ่ง เรียกว่า เครง หรือ หนองสาหร่าย เพื่อปะทะทัพมอญ เมื่อกองทัพทั้งสองมาประจัญกันเข้า พระนเรศวรและพระมหาอุปราชา (ซึ่งต่างก็ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ และประทับบนพระคชาธาร) ต่างทอดพระเนตรเห็นกันเข้า ต่างองค์ก็มีพระทัยฮึกเหิม เสด็จออกจากกองทัพ ขับพระคชาธารโดยปราศจากรี้พลเข้าหากัน แต่พระคชาธารที่พระนเรศวรทรงอยู่นั้น เล็กกว่าช้างทรงพระมหาอุปราชามากนัก เมื่อกษัตริย์ทั้งสองพระองค์มุ่งเข้าหากัน ช้างที่เล็กกว่าก็ตกใจกลัวช้างที่ใหญ่กว่า ถึงกับเบนหัวจะถอยกลับ พระนเรศวรทรงเห็นดังนั้น จึงตรัสปลอบพระยาช้างต้นให้มีใจฮึกเหิมกลับมาสู้ช้างข้าศึก และทรงพรมน้ำเทพมนต์ซึ่งพราหมณ์ได้ทำถวายไว้สำหรับโอกาสนี้ ลงบนศีรษะช้าง พระยาช้างต้นผู้ชาญฉลาดเมื่อได้รับน้ำเทพมนต์ และได้ยินเสียงพระราชดำรัสของวีรกษัตริย์ก็มีใจฮึกเหิม ชูงวงขึ้นประณตแล้วเบนหัวสู่ข้าศึก พลันวิ่งพุ่งเข้าสู่กษัตริย์มอญอย่างเมามัน อำนาจของพระยาช้างต้นในการสู้รบครั้งนี้ แลดูน่าสพึงกลัว และน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก
ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นเหตุการณ์ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่การกระทำยุทธหัตถีของสองกษัตริย์ และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงได้ชัยชนะอย่างงดงาม เป็นที่เลื่องลือไปทั่วทิศานุทิศ ข้าศึกศัตรูไม่หาญกล้ามาเบียดเบียนราชอาณาจักรไทยอีกเลยถึง 160 ปี
สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงขับช้างพระที่นั่งตรงไปยังพระมหาอุปราชา แล้วร้องตรัสไปโดยฐานที่คุ้นเคยกันมาแต่ก่อน มีความว่า
"เจ้าพี่จะยืนช้างอยู่ในที่ร่มไม้ทำไม เชิญเสด็จมาทำยุทธหัตถีกันให้เป็นเกียรติยศเถิด กษัตริย์ภายหน้า ที่จะทำยุทธหัตถีได้อย่างเรา จะไม่มีแล้ว"
พระมหาอุปราชา เมื่อทรงได้ยินดังนั้นก็ขับพลายพัทธกอซึ่งเป็นพระคชาธาร ออกมาชนกับเจ้าพระยาไชยานุภาพ พระคชาธารของสมเด็จพระนเรศวร ในชั้นแรก เจ้าพระยาไชยานุภาพเสียที พลายพัทธกอได้ล่างแบกรุน พระยาไชยานุภาพเบนจะขวางตัว พระมหาอุปราชาได้ทีฟันด้วยพระแสงของ้าว สมเด็จพระนเรศวรเบี่ยงพระองค์หลบทัน ถูกแต่พระมาลาหนังขาดลิไป พอพระยาไชยานุภาพสะบัดหลุด แล้วกลับชนได้ล่างแบกถนัดรุนพลายพัทธกอหัวเบนไป สมเด็จพระนเรศวรก็จ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าว ถูกพระมหาอุปราชาที่ไหล่ขวาขาด สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถก็ได้ชนช้างกับเจ้าเมืองจาปะโร และฟันเจ้าเมืองจาปะโรตายเช่นกัน ทหารพม่าก็เข้ามากันพระศพพระมหาอุปราชา และเจ้าเมืองจาปะโรออกไป แล้วเข้าระดมยิงถูกสมเด็จพระนเรศวรที่พระหัตถ์ได้รับบาดเจ็บ และถูกนายมหานุภาพควาญช้างพระที่นั่ง กับหมื่นภักดีศวรกลางช้างสมเด็จพระเอกาทศรถ ตายทั้งสองคน ขณะนั้น กองทัพเจ้าพระยามหาเสนา พระยาสีหราชเดโชชัยตามไปทัน ก็ช่วยกันรบพุ่งแก้กันทั้งสองพระองค์ออกมาได้ สมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นว่า กองทัพข้าศึกแตกเฉพาะทัพหน้า กำลังฝ่ายไทยที่ตามเสด็จไปถึงเวลานั้นมีน้อยนัก จึงจำต้องเสด็จกลับมาค่ายหลวง ฝ่ายข้าศึกก็เชิญพระศพพระมหาอุปราชา เลิกทัพกลับไปเมืองหงสาวดี เหตุการณ์ในตอนนี้ วัน วลิต ได้บรรยายไว้ว่า
ช้างข้าศึกพยายามเอางาเสยพระคชาธารให้ถอยห่างอยู่ตลอดเวลา แต่ในที่สุดพระคชาธารซึ่งเล็กกว่าก็ได้ทีช้างข้าศึก โดยช้างข้าศึกไม่ทันรู้ตัว ขึ้นเสยช้างข้าศึกแล้วเอางวงตีด้วยกำลังแรงยิ่งนัก จนช้างข้าศึกร้องขึ้น กษัตริย์มอญก็ตกพระทัย กษัตริย์ไทยเห็นได้ทีก็เอาพระแสงขอ ตีต้องพระเศียรกษัตริย์มอญ แล้วใช้พระแสงทวนแทงจนกษัตริย์มอญตกช้างสิ้นพระชนม์ แล้วทรงจับช้างทรงของกษัตริย์มอญนั้นไว้ได้ ทหารรักษาพระองค์ซึ่งตามมาโดยไม่ช้า ก็แทงชาวโปรตุเกส ซึ่งนั่งอยู่เบื้องหลังกษัตริย์มอญนั้นตาย เมื่อกองทัพมอญเห็นกษัตริย์ของตนสิ้นพระชนม์ ก็พากันล่าถอยไม่เป็นกระบวน กองทัพไทยก็ไล่ติดตามไปอย่างกล้าหาญ จับเป็นได้เป็นจำนวนมาก ฆ่าตายเสียก็มาก ที่เหลือนั้นก็แตกกระจัดกระจายไปประดุจแกลบต้องลม ทหารมอญหลายพันคนต้องตกค้างอยู่ และเมื่อต้องถอยทัพกลับโดยที่ขาดแคลนเสบียงอาหาร จึงกลับไปถึงเมืองมอญได้น้อยคนนัก
สมเด็จพระนเรศวรมีชัยในการกระทำยุทธหัตถีครั้งนี้ พระเกียรติยศได้เลื่องลือไปทั่วทุกประเทศในชมพูทวีป ด้วยถือเป็นคติมาแต่โบราณว่า การชนช้างเป็นยอดวีรกรรมของนักรบ เพราะเป็นการต่อสู้ตัวต่อตัว มิได้อาศัยกำลังพล หรือกลยุทธใดๆ เป็นการแพ้ชนะกันด้วยฝีไม้ลายมือและความแกล้วกล้า นอกจากนั้น โอกาสที่จะมีเหตุการณ์ดังกล่าวก็มีน้อย ดังนั้น ถ้ากษัตริย์พระองค์ใดกระทำยุทธหัตถีได้ชัยชนะ ก็จะได้รับความยกย่องว่ามีพระเกียรติยศอย่างสูงสุด ถึงเป็นผู้แพ้ ก็ได้รับการยกย่องสรรเสริญ ว่าเป็นนักรบแท้
ด้วยเหตุผลดังกล่าว สมเด็จพระนเรศวรจึงโปรดให้สร้างพระเจดีย์ขึ้นองค์หนึ่ง ตรงที่ได้กระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา ณ ตำบลท่าคอย ซึ่งปัจจุบันเป็นตำบลดอนเจดีย์ อยู่ห่างจากหนองสาหร่ายไปประมาณ 100 เส้น พระเจดีย์ทิ้งร้างมานานหลายร้อยปี เพิ่งมาพบเมื่อปี พ.ศ. 2456 วัดฐานเจดีย์ได้ด้านละ 10 วา ความสูงประมาณ 20 วา ต่อมา ได้มีการบูรณะเป็นรูปแบบที่สมบูรณ์ ตามแบบอย่างเจดีย์ที่วัดใหญ่ชัยมงคล ซึ่งสันนิษฐานว่า สมเด็จพระนเรศวรทรงให้สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์ แห่งชัยชนะครั้งนั้น ตามคำกราบทูลแนะนำของสมเด็จพระพนรัตน์วัดป่าแก้ว เป็นเจดีย์กลมแบบลังกา ดังที่ปรากฎอยู่ปัจจุบันนี้
สมเด็จพระนเรศวร ทรงปูนบำเหน็จความชอบอันเนื่องมาจากการสงครามครั้งนี้โดยทั่วกัน คือ ช้างพระที่นั่งที่ชนชนะข้าศึก พระราชทานนามว่า เจ้าพระยาปราบหงสาวดี พระแสงของ้าวก็ได้นามว่าเจ้าพระยาแสนพลพ่าย นับถือเป็นพระแสงศักดิ์สิทธิ์ สำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงคชาธารในรัชกาลหลัง ๆ สืบมา พระมาลาที่พระองค์ทรงในวันนั้น ก็ปรากฎนามว่าพระมาลาเบี่ยง ดำรงคงอยู่มาถึงปัจจุบันนี้
เมื่อเสร็จศึกแล้ว สมเด็จพระนเรศวรทรงโทมนัส ที่ไม่สามารถจะตีข้าศึกให้แตกยับเยินไปได้เหมือนครั้งก่อน เพราะเหตุที่แม่ทัพนายกองไม่สามารถตามเสด็จให้ทันการรบพุ่งพร้อมกัน พระองค์จึงให้ลูกขุน ประชุมปรึกษาโทษแม่ทัพนายกองเหล่านั้นตามพระอัยการศึก ลูกขุนปรึกษากันแล้ววางบทว่า
พระยาศรีไสยณรงค์ มีความผิดฐานฝ่าฝืนพระบรมราชโองการ ไปรบพุ่งข้าศึกโดยพละการจนเสียทัพแตกมา
เจ้าพระยาจักรี พระยาพระคลัง พระยาเทพอรชุน พระยาพิชัยสงคราม พระยารามคำแหง มีความผิดฐานละเลย มิได้ตามเสด็จให้ทันท่วงทีการพระราชสงคราม
ทั้งหมดนี้ โทษถึงประหารชีวิตด้วยกัน พระองค์จึงทรงให้เอาตัวคนทั้งหมดดังกล่าวไปจำตรุไว้ พอพ้นวันพระแล้ว ให้เอาไปประหารชีวิตเสีย ตามคำพิพากษาของลูกขุน
ครั้นถึงวันแรม 14 ค่ำ เดือนยี่ สมเด็จพระนพรัตน์ วัดป่าแก้ว กับพระราชาคณะรวม 25 รูป เข้าไปเฝ้า ถามข่าวถึงการเสด็จพระราชสงครามตามประเพณี สมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสเล่าเหตุการณ์ทั้งปวงให้ฟังทุกประการ สมเด็จพระพนรัตน์ได้ฟังแล้วจึงถวายพระพรถามว่า พระองค์มีชัยแก่ข้าศึก แต่เหตุไฉนข้าราชการทั้งปวงจึงต้องรับราชทัณฑ์ สมเด็จพระนเรศวรตรัสตอบว่า นายทัพนายกองเหล่านี้กลัวข้าศึกมากกว่ากลัวพระองค์ ละให้แต่พระองค์สองคนพี่น้อง ฝ่าเข้าไปท่ามกลางข้าศึก จนได้ทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา ต่อมีชัยกลับมาจึงได้เห็นหน้าพวกเหล่านี้ นี่หากว่าพระองค์ยังไม่ถึงที่ตาย หาไม่แผ่นดินก็จะเป็นของชาวหงสาวดีเสียแล้ว เหตุนี้พระองค์จึงให้ลงโทษตามอาญาศึก สมเด็จพระพนรัตน์จึงถวายพระพรว่า เมื่อพิเคราะห์ดูข้าราชการเหล่านี้ ที่จะไม่กลัวสมเด็จพระนเรศวรนั้นหามิได้ เหตุทั้งนี้เห็นจะเผอิญเป็น เพื่อจะให้พระเกียรติแก่พระองค์เป็นมหัศจรรย์ เหมือนสมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้า เมื่อพระองค์เสด็จเหนืออปราชิตบัลลังก์ใต้ควงไม้โพธิ์ครั้งนั้น เทพเจ้าก็มาเฝ้าพร้อมหมื่นจักรวาล พระยาวัสวดีมารยกพลเสนามาผจญ ถ้าพระพุทธเจ้าได้เทพเจ้าเป็นบริวาร มีชัยแก่พระยามารก็หาสู้เป็นอัศจรรย์ไม่ เผอิญให้หมู่เทพเจ้าทั้งปวงปลาศนาการหนีไปสิ้น เหลือแต่พระองค์เดียวสามารถผจญให้เหล่ามารปราชัยไปได้ จึงได้พระนามว่า พระพิชิตมาร โมฬีศรีสรรเพชญดาญาณ เป็นมหาอัศจรรย์บันดาลไปทั่วอนันตโลกธาตุ ก็เหมือนทั้งสองพระองค์ครั้งนี้ ถ้าเสด็จพร้อมด้วยโยธาทวยหาญมาก และมีชัยชนะแก่พระมหาอุปราชา ก็จะหาสู้เป็นมหัศจรรย์แผ่พระเกียรติยศ ให้ปรากฎแก่นานาประเทศไม่ อันเหตุที่เป็นทั้งนี้ เพื่อเทพเจ้าทั้งปวงอันรักษาพระองค์ จักสำแดงพระเกียรติยศ เป็นแน่แท้
สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงฟังแล้วก็ทรงพระปิติโสมนัส ตรัสว่า พระผู้เป็นเจ้าว่านี้ควรหนักหนา สมเด็จพระพนรัตน์จึงได้ถวายพระพรว่า ข้าราชการซึ่งเป็นโทษเหล่านี้ก็ผิดหนักหนาอยู่แล้ว แต่ทว่าได้ทำราชการมา แต่ครั้งสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช และสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ตลอดมาจนถึงพระองค์ดุจพุทธบริษัท สมเด็จพระบรมครู จึงขอพระราชทานโทษคนเหล่านี้ไว้สักครั้งหนึ่ง จะได้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณสืบไป สมเด็จพระนเรศวร จึงมีรับสั่งว่าเมื่อสมเด็จพระพนรัตน์ขอแล้ว พระองค์ก็จะถวาย แต่ทว่า จะต้องไปตีเมืองตะนาวศรี เมืองทวายแก้ตัวก่อน สมเด็จพระพนรัตน์
ถวายพระพรว่า การจะใช้ไปตีบ้านเมืองนั้นสุดแต่พระองค์จะสงเคราะห์ มิใช่กิจของสมณะ แล้วก็ถวายพระพรลาไป สมเด็จพระนเรศวรจึงโปรดให้นายทัพนายกองที่มีความผิดพ้นจากเวรจำ แล้วทรงให้พระยาจักรียกกองทัพมีกำลังพล 50,000 คน ไปตีเมืองตะนาวศรีทัพหนึ่ง ให้พระยาพระคลังคุมกองทัพมีกำลัง 50,000 ไปตีเมืองทวายอีกองทัพหนึ่ง


บันทึกเรื่องเจดีย์ยุทธหัตถี


เรื่องเจดีย์ยุทธหัตถีนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือนิทานโบราณคดี มีข้อมูลที่น่ารู้ดังนี้
ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ได้กล่าวถึงเจดีย์ยุทธหัตถีไว้ว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงชนะยุทธหัตถี แล้ว "ตรัสให้ก่อพระเจดีย์สถาน สวมศพพระมหาอุปราชาไว้ ณ ตำบลตระพังกรุ"
สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ได้ทรงให้พระยากาญจนบุรี (นุช) ไปสืบหา ได้ความว่าบ้านตระพังกรุมีมาแต่โบราณ เป็นที่ดอนต้องอาศัยใช้น้ำบ่อ มีบ่อน้ำกรุอิฐข้างในซึ่งคำโบราณ เรียกว่า ตระพังกรุ อยู่หลายบ่อ แต่ไม่มีเจดีย์ที่สมควรว่าเป็นของพระเจ้าแผ่นดินสร้างอยู่ในบริเวณนั้น
เมื่อได้ประมวลเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ได้ข้อสรุปว่า สมเด็จพระนเรศวร โปรดให้สร้างพระเจดีย์ยุทธหัตถี ขึ้นตรงที่ชนช้างองค์หนึ่ง แล้วทรงสร้างพระเจดีย์ใหญ่อีกองค์หนึ่ง ขนานนามว่า พระเจดีย์ชัยมงคล ขึ้นที่วัดเจ้าพระยาไทย อันเป็นที่สถิตของพระสังฆราชฝ่ายขวา จึงมักเรียกกันว่า วัดป่าแก้ว ตามนามเดิมของพระสงฆ์คณะนั้น
ในปีแรกรัชกาลที่ 6 พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์) เมื่อยังเป็นหลวงประเสริฐอักษรนิติ ได้พบหนังสือเรื่องพงศาวดารเล่มหนึ่ง มีหลักฐานว่าเขียน เมื่อปี พ.ศ. 2223 ซึ่งต่อมาให้เรียกว่า พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ฯ มีความในเรื่องสงครามยุทธหัตถีว่า
"พระมหาอุปราชามาตั้งประชุมทัพอยู่ที่ตำบลตระพังกรุ แล้วมาชนช้างกับสมเด็จพระนเรศวร ฯ ที่ตำบลหนองสาหร่าย เมื่อวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง จุลศักราช 955 (พ.ศ. 2135)"
สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ จึงทรงให้พระยาสุนทรบุรี (อี่ กรรณสูตร) สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครไชยศรี ไปสืบหาตำบลหนองสาหร่าย ได้ความว่า ตำบลหนองสาหร่ายนั้นอยู่ใกล้ลำน้ำท่าคอย อยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองสุพรรณ เป็นลำน้ำเดียวกันกับลำน้ำจรเข้สามพัน ที่ตั้งเมืองอู่ทอง แต่อยู่เหนือขึ้นไปไกล มีเจดีย์โบราณอยู่ ชาวบ้านเรียกว่า ดอนเจดีย์ เป็นเจดีย์ฐานทักษิณเป็น 4 เหลี่ยม 3 ชั้น ชั้นล่างกว้าง 8 วา องค์พระเจดีย์เหนือฐานทักษิณ ชั้นที่ 3 ขึ้นไป หักพังหมดแล้ว ประมาณขนาดสูงเมื่อยังบริบูรณ์ เห็นจะราวเท่า ๆ กับ พระปรางค์ที่วัดราชบูรณะในกรุงเทพ ฯ
ระยะทางระหว่างตำบลสำคัญที่ได้จากเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินโดยสถลมารค ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปสักการบูชา พระเจดีย์ยุทธหัตถี เมื่อ พ.ศ. 2453 พอประมวลได้ดังนี้

นครปฐม ถึง กำแพงแสน ระยะทาง 568 เส้น หรือประมาณ 23 กิโลเมตร
กำแพงแสน ถึง บ้านบ่อสุพรรณ ระยะทาง 706 เส้น หรือประมาณ 28 กิโลเมตร
บ้านบ่อสุพรรณ ถึง บ้านตระพังกรุ ระยะทาง 125 เส้น หรือประมาณ 5 กิโลเมตร
บ้านตระพังกรุ ถึง บ้านดอนมะขาม ระยะทาง 274 เส้น หรือประมาณ 11 กิโลเมตร
บ้านดอนมะขาม ถึง บ้านจระเข้สามพันระยะทาง 411 เส้นหรือประมาณ 16 กิโลเมตร
บ้านจรเข้สามพัน ถึง อู่ทอง ระยะทาง 140 เส้น หรือประมาณ 6 กิโลเมตร
อู่ทอง ถึง บ้านโข้ง ระยะทาง 510 เส้น หรือประมาณ 20 กิโลเมตร
บ้านโข้ง ถึง ดอนเจดีย์ ระยะทาง 495 เส้น หรือประมาณ 20 กิโลเมตร

ลำดับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของห้วงเวลานั้นได้ดังนี้
กองทัพพระมหาอุปราชา เดินทัพมาจนเข้าเขตเมืองสุพรรณบุรี แขวงบ้านพนมทวน หยุดตั้งกองทัพที่ตำบลตระพังกรุ แขวงเมืองสุพรรณบุรี แล้วให้กองกำลังทหารม้าออกลาดตระเวณหาข่าว
สมเด็จพระนเรศวร ยกกองทัพมาตั้งค่ายหลวงอยู่ที่หนองสาหร่าย ริมแม่น้ำท่าคอย เมื่อวันขึ้น 14 ค่ำ เดือนยี่ และทรงให้กองทัพพระยาศรีไสยณรงค์ กับพระราชฤทธานนท์ ที่ออกไปขัดตาทัพอยู่ที่ลำน้ำท่าคอย เลื่อนออกไปขัดตาทัพที่ดอนระฆัง
พระยาศรีไสยณรงค์ แจ้งข่าวข้าศึกว่า กองทัพใหญ่ข้าศึกเคลื่อนที่พ้นบ้านจรเข้สามพันมาแล้ว เมื่อวันแรม 1 ค่ำ เดือนยี่ สมเด็จพระนเรศวรมีรับสั่งให้กองทัพทั้งปวง เตรียมตัวรบข้าศึกในวันรุ่งขึ้น
วันจันทร์แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ สมเด็จพระนเรศวร กับสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงเครื่องพิชัยยุทธ ขณะนั้นได้ยินเสียงปืน จากการปะทะกันของทัพหน้าไทยกับทัพหน้าพม่า ได้ความว่าปะทะกันที่ดอนเผาข้าว เมื่อเวลาเช้าจึงมีรับสั่งให้ กองทัพหน้าล่าถอยลงมาโดยเร็ว ทรงให้สงบทัพหลวงรออยู่จน 11 นาฬิกา เห็นข้าศึกรุกไล่ลงมาไม่เป็นกระบวน จึงทรงให้สัญญาณกองทัพทั้งปวงยกออกตีข้าศึก
จากเหตุการณ์ดังกล่าว จะพบว่าพระมหาอุปราชาเคลื่อนทัพจากตระพังกรุ มาถึงบ้านจรเข้สามพันเมื่อวันแรม 1 ค่ำ เดือนยี่ เป็นระยะทาง 685 เส้น หรือ 28 กิโลเมตร ซึ่งต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 วัน ณ จุดนี้จะอยู่ห่างจากหนองสาหร่าย ที่ตั้งค่ายหลวงของไทย เป็นระยะทาง 1145 เส้น หรือ 46 กิโลเมตร สมเด็จพระนเรศวรจึงมีรับสั่งให้เตรียมตัวรบข้าศึกในวันรุ่งขึ้น
ในวันรุ่งขึ้นซึ่งข้าศึกจะเคลื่อนทัพมาได้อีกประมาณ 30 กิโลเมตร ซึ่งจะอยู่ห่างจากค่ายหลวงของไทยประมาณ 20 กิโลเมตร ซึ่งจะใช้ระยะเวลาเดินทางอีกไม่เกิน 1 วัน
วันต่อมาคือวันแรม 2 ค่ำ เดือนยี่ เวลาเช้าได้ยินเสียงปืนจากการปะทะกัน ได้ความว่าปะทะกันที่ดอนเผาข้าว ซึ่งน่าจะอยู่ห่างจากหนองสาหร่ายไม่เกิน 15 กิโลเมตร เพราะเป็นเวลาเช้าเสียงปืนใหญ่ได้ยินไปได้ไกล และพระองค์ทรงรออยู่จน 11 นาฬิกา ข้าศึกจึงรุกไล่ทัพหน้าของไทยมาถึงทัพหลวง
เมื่อสมเด็จพระนเรศวร กับพระเอกาทศรถ ยกกำลังทั้งปวงเข้าตีข้าศึก ช้างศึกของทั้งสองพระองค์เร่งรุดไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว จนกองทัพตามไม่ทัน ผงคลีจากกองทัพทั้งสองฝ่ายที่สู้รบติดพันกันมาปลิวคลุ้งจนมืดมิด และเมื่อฝุ่นจางจึงทอดพระเนตรเห็น พระมหาอุปราชายืนอยู่ช้างอยู่ใต้ร่มไม้ ระยะทางที่ช้างทรงของทั้งสองพระองค์ตลุยข้าศึกมานี้เป็นระยะทาง 100 เส้น หรือ 4 กิโลเมตร เนื่องจากพระเจดีย์ยุทธหัตถีอยู่ห่างจากหนองสาหร่ายไปประมาณ 100 เส้น
เหตุการณ์อันยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ชาติไทยครั้งนั้น ก็สมจริงตามได้บันทึกกันไว้สืบต่อมาทุกประการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น