วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

พิธีไหว้ครู



พิธีไหว้ครู
การไหว้ครู เป็นประเพณีอย่างหนึ่งของไทย ที่นิยมมาแต่สมัยโบราณ ชาวไทยถือกันว่า เมื่อเราเริ่มศึกษาวิชาการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียน กระบี่กระบอง ชกมวย ดนตรี นาฏศิลป์ ตลอดจนการเรียนหนังสือ เราจะตัองเริ่มต้นการไหว้ครูก่อน บางคนอาจเรียก"ขึ้นครู" เพราะคิดศิษย์ที่ดีจะต้องเคารพครู บูชาครู จึงจะทำให้การศึกษาเล่าเรียนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี โดยส่วนมากสถานศึกษาแต่ละแห่งจะถือเอา"วันพฤหัสบดี" เป็นหลัก เราท่านทั้งหลายที่มีอาชีพเป็นพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ ของชาติก็ควรที่อนุรักษ์สืบสานประเพณีที่ทรงคุณค่าและศักดิ์สิทธิ์เอาไว้ให้ตราบนานเท่านาน

ดอกไม้ที่ใช้ในการไหว้ครู

นับตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้ว ดอกไม้ที่ใช้ในการประดิษฐ์พานเพื่อให้เกิดความสวยงามจะประกอบด้วยดอกไม้หลัก 3 อย่างและเป็นดอกไม้ที่มีความหมาย ได้แก่

1.หญ้าแพรกจะใช้สื่อความหมายถึง ขอให้เรียนได้รวดเร็วเหมือนหญ้าแพรกซึ่งเจริญเติบโตได้รวดเร็วและทนต่อสภาพดินฟ้า อากาศ ทนต่อการเหยียบย่ำ ซึ่งเปรียบเสมือนคำดุด่าว่ากล่าวของครูบาอาจารย์

2. ดอกเข็ม หมายถึงขอให้มีสติปัญญาเฉียบแหลม ดุจดังชื่อของดอกเข็ม

3. ดอกมะเขือ หมายถึงเปรียบเทียบให้เห็นว่า มะเขือนั้น จะคว่ำดอกลงเสมอเมื่อจะออกลูก (คนโบราณช่างสังเกตจริง)เหมือนจะบ่งบอกว่า นักเรียนที่จะเรียนให้ได้ผลนั้นจะต้องรู้จักค้อมตัวลงเหมือนดอกมะเขือ หรืออาจจะหมายถึงให้รู้จักอ่อนน้อม ถ่อมตน เป็นคนสุภาพเรียบร้อย ในปัจจุบันบางคนแปลความหมายผิดมุ่งแต่ความสวยงาม อาจจะนำลูกมะเขือพวง หรือมะเขือเทศมาใช้ในการจัดพาน การที่เราจะทำสิ่งใดโดยที่ไม่รู้ซึ้งถึงคุณค่าและความหมายในสิ่งที่เราทำ การกระทำนั้นจึงเท่ากับสูญเปล่า มิได้สร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นในจิตใจแต่อย่างใดไม่ อนึ่งบางท้องที่อาจจะใช้ "ข้าวตอก" มาใช้ในการจัดพานด้วย ซึ่งมีความหมายว่า ข้าวเปลือกเรารับประทานไม่ได้ แต่ถ้าเราเอาไปคั่ว เป็นข้าวตอก สามารถนำมาปรุงเป็นกระยาสารทรับประทานได้หรือรับประทานเปล่าๆก็ได้เช่นกัน เปรียบได้กับการที่ครู "คั่ว"นักเรียนคนใดคนหนึ่ง กล่าวคือ "คั่ว"คือการเคี่ยวเข็ญ ว่ากล่าวตักเตือน อบรมสั่งสอนนั่นเอง วิชาความรู้ของนักเรียนเหล่านั้นจะ "แตก"ฉานสามารถนำมาใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น